วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

ขุนช้างขุนแผนตอนพลายงามทูลขอโทษให้ขุนแผน


บทนำเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนพลายงามทูลขอโทษให้ขุนแผน

เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้เป็นนิยายพื้นบ้านของสุพรรณบุรี ที่แต่งขึ้นจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า โดยแต่งเป็นบทกลอนสำหรับขับเสภาให้ประชาชนฟัง เมื่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่มีผู้แต่งไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเหลืออยู่เพียงบางตอนเท่านั้นเพราะถูกไฟไหม้และสูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงกับพม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่๒)จึงโปรดเกล้า ฯ ให้กวีหลายท่าน เช่น พระองค์เอง กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) สุนทรภู่ ครูแจ้ง เป็นต้น ให้ช่วยกันแต่งเพิ่มเติมขึ้นโดยแบ่งกันแต่งเป็นตอน ๆ ไปจนจบเรื่อง
คุณค่าทางวรรณคดี

ขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องที่ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภา มีสำนวนโวหารไพเราะคมคาย มีคติเตือนใจ สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตและสังคมความเป็นอยู่ของคนไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย และยังให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย
ด้วยความแค้นขุนช้าง ขุนแผนจึงขึ้นเรือนขุนช้าง และลักพานางวันทองหนีจากขุนช้าง และพาไปอยู่ด้วยกันจนนางวันทองตั้งครรภ์แล้วพาเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษาเพื่อแก้คดี ขุนแผนชนะความขุนช้างต่อมาขุนแผนทูลขอนางลาวทองจากสมเด็จพระพันวษาเป็นเหตุให้สมเด็จพระพันวษากริ้วให้นำขุนแผนไปจำคุก ขุนช้างได้โอกาสจึงฉุดนางวันทองไปอยู่กับตน นางวันทองไปอยู่กับขุนช้างจนคลอดบุตรชายชื่อ พลายงาม ขุนช้างลวงพลายงามซึ่งเป็นลูกของขุนแผนไปฆ่าในป่าแต่ผีพรายบ่าวของขุนแผนมาช่วยป้องกันไว้ นางวันทองจึงให้พลายงามไปอยู่กับนางทองประศรีผู้เป็นย่าที่กาญจนบุรี เมื่อพลายงามโตขึ้นได้เล่าเรียนวิชาตามตำราของขุนแผนจนเก่งกล้าสามารถ และได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ต่อมาพระเจ้าล้านช้างได้ถวายนางสร้อยทองพระธิดาแด่สมเด็จพระพันวษาพระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพมาชิงนางไปแล้วมีหนังสือมาท้าสมเด็จพระพันวษา ให้ยกทัพไปชิงนางสร้อยทองคืน พลายงามจึงกราบทูลรับอาสาและขอตัวขุนแผนออกจากคุก เพื่อไปทำศึกกับพระเจ้าเชียงใหม่ต่อไปนี้จะได้อ่านเรื่องขุนช้างขุนแผนตอน พลายงามทูลขอโทษให้ขุนแผน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น